20-22 สิงหาคม 2568
ไบเทค กรุงเทพ

ความปลอดภัยทางไซเบอร์ในโลจิสติกส์: การปกป้องห่วงโซ่อุปทานดิจิทัล

  • การรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ในโลจิสติกส์กลายเป็นส่วนสำคัญของอุตสาหกรรมในปัจจุบันและในอนาคต

  • คาดว่าอาชญากรรมไซเบอร์สร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจโลก 10.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2568 เพิ่มขึ้นอย่างมากจาก 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2558 ความเสียหายเหล่านี้แสดงถึงต้นทุนที่เกิดจากการละเมิดข้อมูล เงินที่ถูกโจรกรรม การขโมยทรัพย์สินทางปัญญา การหยุดชะงักในการปฏิบัติงาน และการกู้คืนหลังการโจมตี

  • ในขณะที่อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ถูกบังคับให้ปรับตัวเข้ากับโลกดิจิทัล เทคโนโลยีใหม่ ๆ  เช่น AI และระบบอัตโนมัติ ช่วยปรับปรุงการดำเนินงาน แต่การเปลี่ยนผ่านเป็นดิจิทัลทำให้เกิดช่องโหว่ เนื่องจากอาชญากรไซเบอร์พยายามหาประโยชน์จากความก้าวหน้าเหล่านี้ 

  • การรับมือกับภัยคุกคามนี้ต้องใช้แนวทางบูรณาการจึงจะเอาอยู่ หนึ่งในนั้นคือการฝึกอบรมพนักงาน รวมถึง Generative AI

ข้อมูลที่ละเอียดอ่อนต่าง ๆ  เช่น ธุรกรรมทางการเงินและข้อมูลลูกค้า นับว่ามีคุณค่าต่ออาชญากร การโจมตีเพียงครั้งเดียวสามารถทำให้เกิดการหยุดชะงักครั้งใหญ่ในห่วงโซ่อุปทาน ระบบเสียหายและอาจถึงขั้นบังคับให้ระบบทั้งหมดหยุดทำงาน เนื่องจากเครือข่ายโลจิสติกส์ทั่วโลกมีความซับซ้อน เชื่อมโยง และต่างพึ่งพาอาศัยกัน การเชื่อมต่อภายในห่วงโซ่อุปทานเองทำให้เกิดความซับซ้อนอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งเพิ่มความน่าจะเป็นของช่องโหว่ที่ยังไม่ถูกค้นพบซึ่งผู้โจมตีสามารถหาประโยชน์ได้ การโจมตีทางไซเบอร์จึงมุ่งคุกคามความสมดุลอันละเอียดอ่อนนี้

ดังนั้น การสร้างสมดุลระหว่างประโยชน์ของ Digital Transformation กับความต้องการความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่แข็งแกร่ง จึงถือเป็นหนึ่งในความท้าทายสำคัญที่อุตสาหกรรมโลจิสติกส์กำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบันและจะยิ่งท้าทายมากขึ้นในอนาคต ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจึงจำเป็นต้องตระหนักถึงภัยคุกคามที่ตนเผชิญอยู่ และสิ่งที่สามารถทำได้เพื่อปกป้องการดำเนินงานและพันธมิตรของตนเองคือการเอาตัวรอดจากมหันตภัยนี้ให้ได้

อย่างไรก็ตาม การปกป้องการดำเนินงานด้านโลจิสติกส์จากภัยคุกคามทางไซเบอร์นั้นมีความซับซ้อน ไม่มีมาตรการใดที่สามารถให้ความปลอดภัยได้อย่างสมบูรณ์แบบ การรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่แข็งแกร่งต้องใช้แนวทางที่ครอบคลุมแบบหลายชั้นซึ่งรวมเอากลยุทธ์และมาตรการต่าง ๆ เข้าไว้ด้วยกัน โดยเฉพาะ “การฝึกอบรมพนักงาน” เพราะความประมาทของพนักงานมีส่วนทำให้เกิดการโจมตีทางไซเบอร์โดยตรงถึง 48% ด้วยเหตุนี้ พนักงานมักเป็นด่านแรกในการป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์ โดยต้องเข้าใจถึงความสำคัญของการรักษาแนวทางปฏิบัติด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่เข้มงวด โปรแกรมการฝึกอบรมที่มีประสิทธิภาพจะช่วยให้พนักงานมีความรู้ในการระบุและตอบสนองต่อภัยคุกคาม เช่น ฟิชชิ่งหรือพฤติกรรมอื่น ๆ ที่น่าสงสัย

แต่ในอนาคตที่ไกลกว่านั้น ภายในปี 2571 การ์ทเนอร์คาดว่าจะมีการนำ Generative AI มาใช้ช่วยลดช่องว่างด้านทักษะ โดยขจัดความจำเป็นด้านการศึกษาเฉพาะทางของตำแหน่งงานด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ระดับเริ่มต้นได้กว่า 50% ซึ่งบทบาทของเทคโนโลยีนี้จะเปลี่ยนวิธีที่องค์กรจ้างและสอนพนักงานรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์

นอกจากนี้ นโยบายความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่แข็งแกร่งก็เป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นอย่างมากเพื่อปกป้องห่วงโซ่อุปทานดิจิทัล โดยควรกำหนดการใช้งานระบบภายในที่ปลอดภัย ร่างขั้นตอนในการระบุและรายงานภัยคุกคาม รวมถึงสร้างโปรโตคอลสำหรับการอัปเดตและแพตช์ระบบซอฟต์แวร์เป็นประจำ

สำหรับการทำงานที่ราบรื่นของระบบคลังสินค้าอัตโนมัติต้องอาศัยความปลอดภัยของเครือข่ายเป็นอย่างมาก โครงสร้างพื้นฐานเครือข่ายที่ปลอดภัยถือเป็นสิ่งสำคัญในการป้องกันการหยุดชะงักและป้องกันการโจมตีทางไซเบอร์ที่อาจนำไปสู่การหยุดทำงานอย่างมีนัยสำคัญ การสำรวจมาตรการรักษาความปลอดภัยเครือข่าย เช่น การสร้างเครือข่าย WiFi เฉพาะสำหรับระบบหุ่นยนต์ ถือเป็นสิ่งสำคัญ ช่วยป้องกันการรบกวนโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่และลดความเสี่ยง ทำให้มั่นใจได้ว่ากระบวนการอัตโนมัติทำงานได้อย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพ ซึ่งการใช้บล็อกเชนได้เพิ่มศักยภาพในการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ ด้วยการช่วยตรวจจับและป้องกันภัยคุกคามด้วยความรวดเร็วและแม่นยำกว่าที่เคย การตรวจสอบความปลอดภัยเป็นประจำสามารถช่วยระบุช่องโหว่ก่อนที่จะถูกโจมตี ซึ่งอาจรวมถึงการทดสอบการเจาะระบบ ด้วยการโจมตีจำลองที่ได้รับอนุญาตเพื่อประเมินความปลอดภัยของระบบ หรือการประเมินแนวทางปฏิบัติและขั้นตอนต่าง ๆ  เป็นประจำ เพื่อให้แน่ใจว่าสอดคล้องกับแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุด 

เพื่ออัปเดตเทรนด์เทคโนโลยีและนวัตกรรมในแวดวงโลจิสติกส์ โปรดติดตามข้อมูลข่าวสารจากบล็อกของเราอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเตรียมพบกับงาน TILOG-LOGISTIX 2025 ในวันที่ 20-22 สิงหาคม 2568 ณ ไบเทค บางนา

Related Articles